Smooth E – Perfect Skin Therapie



Smooth E – Perfect Skin  Therâpie
By อ.ภญ.หรรษา   มหามงคล


ช่วงนี้อากาศเมืองไทยร้อนมากถึงมากที่สุดในโลก แต่ละวันได้ยินคนบ่นเรื่องร้อนวันละเป็นสิบๆหน แต่เชื่อไหมคะว่าผู้เขียนก็ยังทาโลชั่นทุกวันค่ะ เป็นคนติดโลชั่นมาก ทาวันละสองครั้งหลังอาบน้ำ ไม่ว่าจะที่หน้าหรือตามตัว เพราะว่าไม่ว่าจะการอาบน้ำหรือการอยู่ในห้องแอร์ ทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้นไปได้ ไม่ทาแล้วมันจะรู้สึกผิวตึงๆแห้งๆ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้อยู่แต่ในห้องแอร์ตลอดทั้งวันทั้งคืน เมื่อต้องเดินออกจากไปอยู่ในที่ที่ทั้งร้อน ทั้งชื้น โลชั่นที่เลือกใช้ต้องซึมอย่างรวดเร็วและไม่เหนอะหนะ ไม่เช่นนั้นคงจะรู้สึกเหนียวๆบนผิวซึ่งน่ารำคาญมาก
การทาโลชั่นให้ซึมอย่างรวดเร็ว ควรทาเมื่ออาบน้ำเสร็จและเช็ดตัวให้แห้งใหม่ๆ โดยคนส่วนมาก มักจะเริ่มทาจากบริเวณที่มองเห็นชัดที่สุดคือแขนก่อน ปริมาณโลชั่นที่ทาก็เยอะกว่าส่วนอื่น โลชั่นที่เหลือติดมือก็ทาแค่ลูบผ่านๆตามลำตัวลงไปที่ขา ซึ่งจริงๆแล้วผิวที่ขาก็ต้องการการดูแลนะคะ ยิ่งสมัยนี้ทั้งแขนสั้นขาสั้นกระโปรงสั้นกำลังอิน อย่าได้ละเลยดูแลผิวส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเป็นอันขาด เดี๋ยวจะสวยไม่ทั่วทั้งตัวค่ะ
แบรนด์ Smooth-E เป็นแบรนด์เวชสำอางที่รู้จักมานานแล้วได้ยินชื่อทีไร นึกถึงครีมที่ช่วยลดรอยแผลเป็นทุกที จริงๆแล้วสินค้าของเค้าตัวอื่นๆก็น่าสนเหมือนกันนะคะ ล่าสุดเพิ่งได้ลอง Smooth-E Perfect Skin Therâpie เป็นโลชั่นทาตัว ในขวดปั๊มแบบ airless บรรจุอยู่ในกล่องกระดาษอีกที ฉลากอินเตอร์มาก เพราะส่วนใหญ่ข้อความเป็นภาษาอังกฤษ แล้วก็มีใบแทรกเป็นภาษาไทยอยู่ข้างใน โลชั่นตัวนี้เค้าเคลมว่าเป็น 4-in-1 คือ


หนึ่ง...ลดริ้วรอย และรอยแตกของผิวที่เกิดจากการขยายตัวอย่างรวดเร็ว (Stretch mark)
สอง...ลดความหยาบกร้านและแก้ปัญหาผิวแห้ง
สาม...ป้องกันผิวจากมลพิษและความแห้งกร้าน
สี่...ช่วยทำให้สีผิวสม่ำเสมอมากขึ้น


อ่านส่วนผสมแล้วก็อืมมม ส่วนผสมจัดเต็ม น่าจะทำได้อย่างที่โฆษณาจริง ว่าแล้วอาบน้ำเสร็จก็กดมาทา เนื้อโลชั่นหวานมัน เอ๊ย... ข้นมันเงางามมาก ทาแล้วรู้สึกได้ว่าชุ่มชื่น ติดอยู่นิดคือโลชั่นมีความหนืดมาก ทำให้ต้องออกแรงในการเกลี่ยเพื่อให้ทั่วผิว ซึ่งคาดว่าเกิดจากการที่โลชั่นตัวนี้เป็นอิมัลชั่นชนิด MES (Multi-layer Emulsion System) ซึ่งบนฉลากเขียนว่าเป็นสูตรเฉพาะที่มีการจดสิทธิบัตรของ Smooth-E
อธิบายเพิ่มอีกนิดว่าอิมัลชั่นธรรมดาจะแบ่งส่วนประกอบหลักๆได้เป็นสองชนิด คือสารที่เข้ากับน้ำ และสารที่เข้ากับน้ำมัน เมื่อฟอร์มเป็นอิมัลชั่น สารพวกหนึ่งจะกระจายตัวเป็นอนุภาคเล็กๆ (วัตภาคภายใน) แทรกตัวอยู่ในอีกประเภทหนึ่ง (วัตภาคภายนอก) ได้เป็นอิมัลชั่นประเภท oil in water (O/W) หรือ water in oil emulsion (W/O) นั่นเอง ซึ่งหากส่วนประกอบ และวิธีในการผลิตเหมาะสม อิมัลชั่นสามารถเปลี่ยนจากอิมัลชั่นธรรมดากลายเป็นอิมัลชั่นซ้อน ที่เรียกทั่วไปว่า multiple
สิ่งที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษคือ เมื่อทาเสร็จ โอ้ ว้าวววว ...มันอเมซิ่งมากๆ เพราะไอ้ที่หนืดๆตอนแรก เกลี่ยไม่ค่อยจะยอมไป มันซึมหายไปอย่างรวดเร็ว เหลือแต่ความรู้สึกลื่นๆบนผิว กลิ่นน้ำหอมที่เค้าใช้ จมูกคนธรรมดา ที่ไม่ใช่ perfumer อย่างผู้เขียนดมแล้วรู้สึกว่ากลิ่นคล้ายๆมะลิบวกกับแตงกวา (จะใช้หรือเปล่าก็ไม่ทราบนะคะ คุณผู้อ่านลองไปดมดูแล้วมาบอกด้วยนะคะ ว่าดมแล้วคิดเหมือนกันหรือเปล่า) เป็นกลิ่นไปในทางเดียวกับ cucumber fruit extract ที่มีในสูตร หอมหวานสดชื่นดี 

ในใบแทรกมีผลแสดงถึงประสิทธิภาพของโลชั่นจากการทดลองใช้ในอาสาสมัครจำนวน  132 คน (การทดลองใช้จริงแบบนี้ ยิ่งมีจำนวนอาสาสมัครมากยิ่งดี ถ้าผลมาจากการทดสอบในอาสาสมัครจำนวนน้อยๆ อย่างเช่น ยี่สิบสามสิบคน นี่น้อยเกินไป ผลที่ได้มีความคลาดเคลื่อนได้สูง) ผลปรากฎว่าอาสาสมัครส่วนใหญ่รู้สึกว่าผิวเรียบเนียนขึ้น ริ้วรอย ความแห้งกร้าน แตกแห้งลดลง และอาสาสมัครจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าผิวขาวขึ้น หลังจากใช้โลชั่นนี้ต่อเนื่องเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ผู้เขียนเองยังใช้ไม่ถึง 4 สัปดาห์ แต่รู้สึกได้ว่าผิวเรียบเนียนดีค่ะ ว่าแล้วก็ใช้ทาถู ทาถูต่อไป เพราะอยากได้ผลลดรอยแตกที่ติดตัวมาตั้งแต่เมื่อตอนแตกเนื้อสาวเปรี๊ยๆ ใครอยากลองใช้ดู ก็หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านยา และห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไปนะคะ

Ingredients:   
Distilled water, Cetearyl octanoate, Caprylic/capric triglyceride, PEG-20 glyceryl stearate, Lactic acid, Propylene glycol, Butylene glycol, Tocopherol, Cetyl alcohol, Stearyl alcohol, Ascorbyl palmitate, Bisabolol, Barley (Hordeum vulgare) Extract & Hydrolyzed Barley protein & Potassium palmitoyl hydrolyzed wheat protein, Hydrolyzed Oat protein, Hydrolyzed silk, Vitis vinifera(grape) seed oil, Jojoba oil, Phenoxyethanol, Fragrance, Cucumber fruit extract, Methyl paraben, Ethyl paraben, Isopropyl paraben, Butyl paraben, Propyl paraben

เครดิต: ติดตามอ่านผลงานดีๆของ อ.ภญ.หรรษา มหามงคล ได้ที่ pleasehealth.com

Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement